วันพุธที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2555

บทความ - Ownership Thinking วิถีแห่งความร่ำรวยของพนักงานกินเงินเดือน ในศตวรรษที่ 21

"Ownership Thinking วิถีแห่งความร่ำรวยของพนักงานกินเงินเดือน ในศตวรรษที่ 21"




“ลูกจ้าง (Employee)” นับเป็นถ้อยคำที่แสนปวดร้าวสำหรับคนส่วนใหญ่ ซึ่งรู้ดีว่าทำงานหนักแทบตายเพียงใด ก็ไม่มีวันร่ำรวยเท่ากับนักธุรกิจที่เป็นเจ้าของกิจการ
ที่น่าเศร้าก็คือ ลูกจ้างในศตวรรษที่ 21 กลับไม่รู้เลยว่ายุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้วด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเงินที่เปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ลูกจ้างและคนธรรมดาทั่วไปสามารถร่วมแบ่งปันผลกำไรจากบริษัทที่มั่งคั่งทั้งหลายบนโลกใบนี้ได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงสร้างมันขึ้นมาด้วยตนเอง
นั่นคือ การลงทุนเลือกซื้อหุ้นซึ่งเป็นตัวแทนของบริษัทที่เราคิดว่ามีอนาคตไกล แล้วเมื่อบริษัทมีผลกำไรเติบโตตามที่คาดการณ์ไว้ เราก็จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทั้งในส่วนของเงินปันผลและราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นประดุจดั่งเจ้าของบริษัทคนหนึ่งเลยทีเดียว

1. ความรู้แบบผิวเผิน เป็นอุปสรรคขัดขวางลูกจ้างจากความร่ำรวยของการเป็นเจ้าของธุรกิจ
ตลาดหุ้นในศตวรรษที่ 21 เต็มไปด้วยนวัตกรรมทางการเงินที่อำนวยความสะดวกให้นักลงทุนสามารถร่วมเป็นเจ้าของบริษัทได้ดีกว่าในอดีต
เริ่มตั้งแต่ปริมาณและความหลากหลายของธุรกิจที่เข้ามาจดทะเบียนซื้อขาย ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ไปจนกระทั่งถึงธรรมาภิบาลที่มีการตรวจสอบดูแลได้ดีกว่าเดิม ก็ทำให้ช่องว่างของผลประโยชน์ระหว่างผู้ถือหุ้นเดิมที่เป็นผู้ก่อตั้งกิจการและผู้ถือหุ้นรายใหม่ที่พึ่งเข้าสู่ตลาด เริ่มมีความใกล้เคียงกันมากขึ้น
ยิ่งกว่านั้น สภาพคล่องของหุ้นทั้งในเชิงการซื้อขายเปลี่ยนมือหรือแปลงเป็นเงินสดก็มีความสะดวกรวดเร็วกว่าเดิม จึงทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจและยินดีเข้าสู่ตลาดหุ้นเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ข่าวสารเกี่ยวกับหุ้น สภาพธุรกิจ และแนวโน้มเศรษฐกิจการเมือง ได้มีการเผยแพร่และวิเคราะห์กันอย่างมากมาย ทำให้ผู้บริโภคมีข้อมูลเพียงพอสำหรับการตัดสินใจลงทุน
คุณค่าของตลาดหุ้นในการเป็นทางเลือกหนึ่งของลูกจ้างกินเงินเดือน ที่จะได้รับประโยชน์จากการเป็นเจ้าของธุรกิจที่ตนเองไม่ได้สร้างขึ้นมา ก็กลับถูกบดบังโดยการเก็งกำไรระยะสั้นและความผันผวนของราคาซื้อขาย ทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เริ่มต้นเข้าสู่ตลาดหุ้นเพราะหวังจะเติบโตไปพร้อมกับธุรกิจที่ตนเองเลือกซื้อ จึงเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองไปสู่การเก็งกำไรโดยไม่รู้ตัว เพราะทนไม่ได้กับความเย้ายวนของราคาที่ผันผวนขึ้นลงในระยะสั้น
ที่น่าเศร้ายิ่งกว่าก็คือ ลูกจ้างกินเงินเดือนที่ทุ่มเทนำเงินเก็บออมทั้งชีวิตของตนเองไปเลือกซื้อหุ้นที่คิดว่าดีและอยากฝากอนาคตไว้ โดยไม่เข้าใจกลยุทธ์ทางธุรกิจอย่างถ่องแท้ว่ากิจการใดที่สวยหรูแต่ภาพลักษณ์หากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้คุ้มกับต้นทุนที่จ่ายไป ไม่หยั่งเห็นถึงกิจการที่เรียบง่ายธรรมดาหากสามารถสร้างผลกำไรเติบโตได้มหาศาล ก็อาจหลงผิดไปเลือกหุ้นที่พ่ายแพ้ได้ ในที่สุด แม้จะอดทนไม่ซื้อขายหุ้นแบบเก็งกำไรระยะสั้น ก็ต้องเสียใจกับผลประกอบการในระยะยาวของกิจการที่ตนเองเลือกลงทุนไว้
คุณสมบัติของนักลงทุนที่ดีจึงไม่ใช่แต่เพียงความมั่นใจที่จะไม่สนใจกับความผันผวนของราคาหุ้นในระยะสั้นเท่านั้น หากยังต้องมีการลงทุนด้านความรู้และวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) ที่จะมองให้ออกว่า บริษัทใดจะมีการเติบโตของกำไรในระยะ 10 ปีข้างหน้าได้เหนือกว่าคู่แข่ง
นักลงทุนที่เป็นลูกจ้างมาชั่วชีวิต ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องลาออกมาสร้างกิจการเพื่อจะได้รู้ว่าธุรกิจที่ดีเป็นอย่างไร หากทว่าอาจจะเริ่มจากองค์กรของตัวเอง โดยการพิจารณาว่ารายได้ส่วนใหญ่ของบริษัทมีที่มาที่ไปอย่างไร ผลกำไรต่อส่วนผู้ถือหุ้นสูงกว่าหรือด้อยกว่าคู่แข่งอย่างไร และบริษัทจะสามารถลดต้นทุนได้มากกว่านี้หรือไม่อย่างไร
ยิ่งกว่านั้น ความรู้และทฤษฎีซึ่งได้รับการพิสูจน์มาแล้วจากประสบการณ์จริง ก็อาจนำมาใช้เป็นแนวทางในการลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็น Buffett, Peter Lynch, Philip Fisher หรือแม้กระทั่ง Soros ทั้งหมดนี้แม้ว่าส่วนใหญ่จะเป็นประสบการณ์ของตลาดหุ้นอเมริกา แต่ก็เป็นองค์ความรู้ที่มีความเป็นสากลในระดับหนึ่ง ในการนำมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย
ถ้าวิเคราะห์ได้ว่าบริษัทของเรามีผลกำไรที่ดีและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง เราก็อาจนำเงินออมมาลงทุนในบริษัทนี้ไปด้วย แทนที่จะได้รับแต่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราก็จะได้ส่วนแบ่งจากเงินปันผลหรือการเพิ่มขึ้นของราคาหุ้นไปด้วย
อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ต้องจมปลักแต่เพียงหุ้นของบริษัทเราเท่านั้น เพราะแม้ว่าบริษัทจะแข็งแกร่งและสร้างผลกำไรได้ดี แต่ก็ยังมีหุ้นในอุตสาหกรรมอื่นอีกจำนวนมากที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
นี่อาจเป็นความได้เปรียบประการหนึ่งของลูกจ้างกินเงินเดือนที่ไม่ได้มีความผูกผันและผูกมัดกับบริษัทมากเท่ากับเจ้าของกิจการผู้ก่อตั้ง จึงทำให้มีความอิสระในการโยกย้ายเงินออมของตัวเองไปยังสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าได้ โดยไม่ติดในกรอบคิดแบบเดิม
โอกาสของศตวรรษที่ 21 คือ ยุคสมัยของลูกจ้างกินเงินเดือน ที่จะสามารถร่ำรวยได้เช่นเดียวกับเจ้าของธุรกิจที่สร้างตนเองขึ้นมาด้วยสองมือ แต่ในโลกนี้ก็ไม่มีอะไรได้มาโดยง่าย ลูกจ้างกินเงินเดือนจึงไม่ใช่เพียงแค่นำเงินออมมาลงทุนซื้อหุ้นเท่านั้น หากยังต้องลงทุนความรู้และวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ เพื่อจะได้สามารถค้นพบได้ว่าบริษัทไหนจะสร้างผลตอบแทนต่อส่วนผู้ถือหุ้นได้สูงที่สุดในระยะ 10 ปีข้างหน้า ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ความสำคัญกับความเสี่ยงของธุรกิจควบคู่ไปด้วย
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ เมื่อนักลงทุนค้นพบหุ้นหรือบริษัทที่ยิ่งใหญ่แล้ว ก็ต้องกล้าจะเข้าไปซื้อในราคาที่เหมาะสม ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นราคาที่ถูกที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องอดทนต่อความเย้ายวนของราคาที่เคลื่อนไหวขึ้นลงทุกวัน ให้ได้
ความรู้และความเข้าใจที่ลึกซึ้งแบบเจ้าของกิจการจะทำให้นักลงทุนมีความหนักแน่นในการถือครองหุ้นที่ล้ำเลิศ โดยไม่ปล่อยขายไปเพียงเพราะได้กำไรแค่ 5-10 เปอร์เซนต์ แล้วเปลี่ยนไปถือครองหุ้นตัวใหม่ที่มีราคาถูกกว่า แต่พื้นฐานกิจการในอนาคตไม่โดดเด่นเทียบเท่าได้เลย
2. คิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) เพิ่มโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้น
บริษัทที่ดีและมีอนาคตยาวไกลย่อมจะเลือกเฟ้นพนักงานที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการไว้เป็นสินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัท โดยเฉพาะในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งคนเก่งที่มีค่าขององค์กรเพียง 1 คนสามารถสร้างผลตอบแทนได้เท่ากับพนักงานธรรมดา 1000 คน
พนักงานที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการ จะมีความเข้าใจภาพรวมและโครงสร้างผลกำไรขององค์กร ดังนั้น จึงมีความฉลาดในการจัดสรรทรัพยากรของตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ บางทีการทุ่มเทให้กับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดีเลิศมากเกินไปก็อาจไม่ใช่เรื่องดี เพราะทำให้บริษัทมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงขึ้น ในขณะเดียวกันระยะเวลาที่ประหยัดได้จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ก็อาจนำไปทุ่มให้กับการเอาอกเอาใจลูกค้าหรือการจัดส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดเวลา หรือแม้กระทั่งการคิดค้นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ที่มีความแปลกแหวกแนวกว่าเดิมและตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีขึ้น
ดังนั้น การพัฒนาตัวเองจากลูกจ้างที่กินเงินเดือนไปวันต่อวันมาเป็นลูกจ้างที่คิดเหมือนเจ้าของกิจการ (Ownership Employer) ก็ย่อมสร้างผลงานและผลกำไรให้กับบริษัทจนกระทั่งเป็นที่สะดุดตาของผู้บริหารระดับสูง ซึ่งย่อมนำไปสู่การเลื่อนตำแหน่งและเงินเดือนที่สูงขึ้นตามมาด้วย
ถ้าสิ่งที่เรามุ่งมั่นกระทำเพื่อบริษัทอย่างถวายชีวิตนี้ไม่มีใครเห็นคุณค่า ก็ต้องกลับมาพิจารณาว่าเป็นเพราะสาเหตุใด บางทีอาจเนื่องจากวิธีคิดแบบเจ้าของกิจการ (Ownership Thinking) มีความผิดพลาด ไม่สามารถสร้างผลกำไรให้กับบริษัทอย่างที่เรานึกฝันไว้ ก็ต้องหันมาปรับปรุงแนวทางการทำงานให้ถูกต้องและละเอียดอ่อนกว่าเดิม
ในทางตรงข้าม ถ้าสิ่งที่เรากระทำมีคุณค่าผลกำไรต่อบริษัทอย่างแท้จริงและพิสูจน์ชัดได้ เราก็ควรพิจารณาต่อไปว่าจะอยู่ในบริษัทที่ไม่เห็นคุณค่าของคนเก่งนี้หรือไม่ เพราะแม้เราจะไม่ถือสาเรื่องผลตอบแทนส่วนตัว แต่ก็ควรจะคาดการณ์ได้ว่าบริษัทเช่นนี้ย่อมไม่มีอนาคตที่ยาวไกลอย่างแน่นอน ไม่ควรค่าต่อการฝากชีวิตและหน้าที่การงานไว้
3. คิดแบบเจ้าของ แต่ไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ
ข้อได้เปรียบหนึ่งของนักลงทุนที่มีมากกว่าผู้ถือหุ้นเดิมซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งกิจการมากับสองมือ ก็คือ การไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ จนกระทั่งไม่สามารถขายหุ้นทิ้งไปได้ แม้ว่ากิจการของบริษัทไม่ได้รุ่งเรืองฟู่ฟ่าเหมือนในอดีตอีกต่อไป
ศตวรรษที่ 21 นักลงทุนมีทางเลือกมากขึ้นมหาศาล ไม่ต้องยอมรับการผูกขาดโดยบริษัทเพียงหยิบมืออีกต่อไป หากบริษัทหนึ่งไม่สามารถหรือไม่ยินดีตอบสนองผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้น นักลงทุนก็สามารถย้ายเงินไปที่หุ้นตัวอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่าได้โดยไม่ต้องลังเลเสียดาย
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นที่รวดเร็วขึ้น แม้ว่าจะทำให้นักลงทุนไม่ต้องยึดติดกับความเป็นเจ้าของเหมือนในอดีตที่มีหุ้นให้เลือกไม่กี่ตัว แต่ก็กลับทำให้นักลงทุนรายย่อยเผลอตัวเข้าสู่หลุมพรางใหม่ นั่นคือ การเล่นหุ้นแบบรายวัน (Day Trade) หรือการเล่นหุ้นตามข่าวลือ จนกระทั่งต้องตกเป็นเหยื่อของนักเก็งกำไรรายใหญ่หน้าเลือดในที่สุด
พนักงานกินเงินเดือนที่ปรารถนาความสำเร็จในการลงทุน จึงต้องยิ่งแสวงหาแนวคิดการลงทุนที่ถูกต้อง นั่นคือ การคิดเหมือนเจ้าของกิจการ แต่ไม่ยึดติดในความเป็นเจ้าของ เพื่อเป็นหลักคุ้มกันตัวเองไม่ให้หลงไปกับกระแสการเก็งกำไรในระยะสั้นที่คอยยั่วเย้านักลงทุนแมงเม่าอยู่ทุกวัน
ความอดทนของนักลงทุนรายย่อยที่ต้องการเติบโตไปพร้อมกับบริษัทระดับกลางที่มีอนาคตยาวไกล (Growth Stock) โดยมุ่งมั่นศึกษาค้นคว้าเพื่อหาบริษัทที่ดีที่สุด ในราคาที่เหมาะสม แล้วยินดีลงทุนเป็นระยะเวลาที่ยาวนาน 3-5 ปี เพื่อให้ดอกผลที่เพาะปลูกไว้ได้งอกงาม ในที่สุดแล้วย่อมทำให้นักลงทุนรายย่อยที่เป็นเพียงลูกจ้างกินเงินเดือน สามารถบรรลุความฝันของความมั่งคั่งร่ำรวยจากการเป็นเจ้าของกิจการได้
ขณะเดียวกัน เมื่อหุ้นเติบโตเร็วที่มีอนาคตไกล (Growth Stock) ให้ดอกผลงดงามจนกระทั่งกลายเป็นบริษัทขนาดใหญ่ที่มั่นคงอิ่มตัว (Blue Chip) ก็อาจถึงเวลาที่นักลงทุนจะต้องละทิ้งความผูกพันในกิจการ เพื่อออกแสวงหาหุ้นเติบโตเร็วตัวใหม่ที่จะให้ดอกผลในอีก 3-5 ปีข้างหน้าต่อไป
เพราะในที่สุดแล้วหุ้นตัวใหญ่ที่มั่นคง แม้ว่าจะให้ความอุ่นใจกับนักลงทุน แต่ก็ไม่ให้ความเติบโตได้อย่างรวดเร็วเหมือนกับหุ้นขนาดกลางที่มีอนาคตไกลอีกต่อไป ยิ่งกว่านั้น บริษัทขนาดใหญ่ก็ย่อมมีคู่แข่งทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามารุมทึ้งแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดไป ในขณะที่โอกาสในการขยายตลาดเพิ่มเติมก็เริ่มเผชิญกับขีดจำกัดและจุดอิ่มตัว ซึ่งถ้าหากรับมือได้ไม่ดี บริษัทใหญ่ที่ดูเสมือนมั่งคงก็อาจประสบภาวะถดถอยและสร้างความเสียหายให้กับนักลงทุนได้
นี่คือ โอกาสยิ่งใหญ่ของพนักงานกินเงินเดือนที่จะเติบโตไปพร้อมกับระบบทุนนิยม โดยอาศัยช่องทางของการเป็นนักลงทุนในบริษัทที่มีคุณภาพและอนาคตยาวไกล ทำให้ไม่ต้องคอยอดทนกับรายได้และค่าตอบแทนที่น้อยนิดในบริษัทของตนเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป
ผลตอบแทนจากการลงทุนปีละ 30 เปอร์เซนต์ พร้อมกับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นตามอายุงานของพนักงานกินเงินเดือนคนหนึ่ง ก็อาจส่งผลให้เขาเป็นบุคคลที่มีรายได้มากกว่าเจ้าของกิจการ SME ที่ต้องนั่งหลังขดหลังแข็งทำงานเพื่อจะหาเงินทุนมาขยายกิจการให้เป็นบริษัทขนาดใหญ่ต่อไป
“สติปัญญา” จึงเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดในศตวรรษที่ 21 เพราะในโลกที่เปิดกว้างเช่นนี้ ย่อมทำให้ผู้เก่งกล้าสามารถหยิบฉวยทุกโอกาสที่ผ่านเข้ามา เพื่อแปรเปลี่ยนเป็นเงินทองและความมั่งคั่งได้เหนือกว่าคนธรรมดา 1000 เท่า
ที่มา.......http://www.siamintelligence.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น