บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็งจำกัด วิเคราะห์ว่า บริษัทในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ 9 แห่งที่บริษัทศึกษาอยู่ ตั้งเป้ายอดพรีเซลล์ในปี 2556 เติบโต 20% ต่ำกว่าปีนี้ที่เติบโต 32% ขณะที่งานในมือรอรับรู้รายได้ (แบ็คล็อก)ของกลุ่ม ณ สิ้นไตรมาส 3 อยู่ที่ 1.91 แสนล้านบาท โดยประมาณ 28% หรือ 5.3 หมื่นล้านบาท จะบันทึกเป็นรายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ และจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเช่น แสนสิริ ศุภาลัย แอลพีเอ็น และ ไรมอน แลนด์ มีผลประกอบการสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และหนุนราคาหุ้นไปอยู่ระดับสูงสุดในรอบหลายปี
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มผลประกอบการในช่วงไตรมาส 1 ปีหน้าจะอ่อนตัวลง จากไตรมาสก่อนหน้า จาปัจจัยแบ็คล็อกที่ลดลง และอาจเกิดภาวะหน้าผาผลตอบแทน หรือ Earning Cliff ในหุ้นกลุ่มที่อยู่อาศัย ซึ่งคาดว่าการลงทุนในกลุ่มนี้จะได้รับความสนใจลดลงช่วงต้นปี2556
ทั้งนี้ ในช่วงปี 2552-2555 กลุ่มอสังหาริมทรัพย์คุ้นเคยกับนโยบายจากภาครัฐ ที่ต้องการต้องการกระตุ้นอุปสงค์ และพยุงค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ส่งผลให้ยอดการขาย (พรีเซลล์) ของกลุ่มเติบโตโดดเด่นในระดับ 29-41% และเป็นแรงหนุนให้มูลค่าขายเกินระดับ 1 แสนล้านต่อปีตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
สำหรับปี 2555 คาดว่าพรีเซลล์ ของกลุ่มจะเติบโต 32% หรือเท่ากับ 1.74 แสนล้านบาท โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ฟื้นตัวหลังอุทกภัยและนโยบายกระตุ้นจากภาครัฐ แต่ด้วยภาระค่าใช้จ่ายของรัฐบาลที่สูงขึ้นจากการใช้เงินอุดหนุนในนโยบายอื่นๆ เ จึงคาดว่าปี 2556 จะไม่เห็นการออกนโยบายกระตุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มเติมคาดว่าจะส่งผลให้ระดับพรีเซลล์เติบโตต่ำกว่าปีนี้ 20%
นอกจากนี้ ปัญหาแรงงานขาดแคลนและการปรับเพิ่มขึ้นของค่าแรงขั้นต่ำตั้งแต่ปี 2555 จะส่งผลให้การก่อสร้างในปี 2556 ล่าช้าทั้งกลุ่มแนวราบและแนวสูงเนื่องจากผู้รับเหมาเริ่มมีศักยภาพในการรับงานลดลง ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีนี้ที่ผู้ประกอบบางรายเริ่มไม่สามารถส่งมอบโครงการได้ตามกำหนด
บริษัทจึงได้ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ เท่ากับตลาด จากเดิมให้น้ำหนักมากกว่าตลาดเนื่องจากประเมินว่ากลุ่มที่อยู่อาศัยจะเริ่มมีการอัตราการเติบโตที่อ่อนตัวกว่าปี 2555 โดยคาดกำไรต่อหุ้น ( EPS)ของกลุ่มในปี 2556 จะเติบโต 11% จากปีก่อนหน้า ต่ำกว่าปี 2555 ที่เติบโต 17% และความเสี่ยงของกลุ่มเรื่องความล่าช้าการก่อสร้างจะเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตและเพิ่มความผันผวนของของรายได้ในปี 2556
ด้านนักวิเคราะห์จากบล.ทิสโก้ ระบุว่า จากการเข้าร่วมประชุมกับประธานสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย พบว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีความระวังต่อฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์มากขึ้นและพร้อมที่จะใช้มาตรการในการป้องกัน เช่น การเพิ่มสัดส่วนวงเงินต่อมูลค่าบ้านขึ้น และโครงการคอนโดอาจมีความยุ่งยากมากขึ้นหากผู้พัฒนาอสังหาฯ ต้องการของรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ซึ่งต้องใช้เวลาประมาณ 6-12 เดือนในการอนุมัติก่อนที่จะเริ่มการก่อสร้าง
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากตลาดแรงงานที่จำกัด และปีหน้ามีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งจะทำให้แรงงานมีการอพยพไปต่างจังหวัดมากยิ่งขึ้น ส่วนแรงงานต่างด้าวสามารถทำงานได้ในพื้นที่ที่ลงทะเบียนเท่านั้น จึงคาดว่าปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ยอดจองมีการเติบโตที่ลดลง โดยเฉพาะโครงการประเภทคอนโด และอาจมีการปรับขึ้นราคาเพื่อรักษาอัตรากำไรขั้นต้น
ที่มา : http://www.bangkokbiznews.com
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น