วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข่าว - อสังหาฯอุดร-อุบลบูมสนั่น จัดสรรเมืองกรุงซุ่มผุด 30 โครงการ ดันที่ดินพุ่ง


ผอ.ศูนย์ข้อมูลอสังหา ชี้ตลาดอสังหาฯภาคอีสานขยายตัวต่อเนื่อง "อุดร-อุบล" น่าจับตามอง ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่จากส่วนกลางซุ่มซื้อที่ดินผุดโครงการทั้งแนวราบ-สูงราว 30 โครงการ ดันราคาที่ดินพุ่งสูงเท่าตัว

       เหตุธุรกิจการค้าชายแดนบูมต่อเนื่องรับกระแสเออีซี "ศุภาลัย"เตรียมปักหมุดอุดรปีหน้า หลังประสบความสำเร็จเปิดตลาดที่ขอนแก่น

       นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผย"ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ในการประชุมกับผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อรวบรวมข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์ พบว่า ทั้ง 2 จังหวัดมีการเติบโตของอสังหาริมทรัพย์อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเศรษฐกิจตามแนวการค้าชายแดนมีการเจริญเติบโตอย่างมาก 

       อีกทั้งภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชนให้ความสำคัญกับการพัฒนาจังหวัดตามแนวชายแดนอย่างมาก โดยภาครัฐมีแนวทางที่จะพัฒนาเขตนิคมอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีแผนที่จะจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับมีการคาดการณ์ว่า หากมีการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ก็จะยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตามแนวชายแดนให้มีความคึกคักเพิ่มมากขึ้น

       ด้วยเหตุนี้บรรดาดีเวลอปเปอร์ ทั้งรายเล็กและรายใหญ่ จึงรีบเข้ามาพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทั้ง 2 จังหวัดดังกล่าว ยังมีพื้นที่เพื่อใช้ในการพัฒนาอีกเป็นจำนวนมาก ในขณะเดียวกันฐานการตลาดก็ยังมีขนาดเล็ก อีกทั้งยังมีศักยภาพสูง

        "ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าทั้ง 2จังหวัด มีการเติบโตเร็วมาก ทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะในเขตเมืองส่งผลให้ราคาที่ดินในช่วง 1 ปีที่ผ่านมามีราคาพุ่งสูงขึ้นกว่าเท่าตัว คาดว่าเมื่อเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี อสังหาริมทรัพย์ทั้ง 2 จังหวัดจะมีอัตราการเติบโตอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งถ้ามีการพัฒนาด้านอื่นๆอย่างจริงจัง ก็คาดว่าทั้ง 2 จังหวัดก็จะมีความเจริญทัดเทียมได้กับจังหวัดเชียงใหม่หรือจังหวัดภูเก็ตเลยทีเดียว" นายสัมมา กล่าว

        สำหรับในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา พบว่าจังหวัดอุดร มีโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่อยู่ระหว่างการขายจำนวน 20 โครงการ และในจังหวัดอุบล มีโครงการที่อยู่ระหว่างขายจำนวน 10 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโครงการแนวราบประมาณ 80-90% ที่เหลือเป็นโครงการแนวสูงรวมทั้ง 2 จังหวัดกว่า 3,000 หน่วย ซึ่งเป็นโครงการที่พัฒนาโดยผู้ประกอบการรายใหญ่ สำหรับกลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเป็นคนในพื้นที่จังหวัดนั้นๆ หรือจังหวัดใกล้เคียง จะมีชาวต่างชาติบ้างเล็กน้อย ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่ต้องการใช้เมืองไทยเป็นฐานการผลิตในอนาคต

        โดยอุปสรรคสำคัญที่จะกระทบต่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยรวมก็คือ 1. มาตรการกำหนดอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV ratio) สำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบเช่น บ้านเดี่ยว บ้านแฝดทาวน์เฮาส์ ที่ 95% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2556 ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถยื่นขอสินเชื่อได้เต็มจำนวน 2.การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศในวันที่ 1 มกราคม 2556 ส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการปรับสูงขึ้นอย่างน้อย 5-10% ซึ่งปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของทั้ง 2 จังหวัดอยู่ที่ประมาณ 230 บาทต่อวัน หากมีการปรับเพิ่มขึ้นมาเป็น 300 บาทต่อวัน ก็จะส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนแรงงานเพิ่มขึ้นถึง 30% และ 3. ปัญหาแรงงานขาดแคลน ก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่กระทบผู้ประกอบการทั้งประเทศ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจทำให้เร่งก่อสร้าง อาจส่งผลต่อคุณภาพงาน ในบางรายอาจต้องลดขนาดจำนวนโครงการลง หรือในบางกรณีก็ต้องชะลอการส่งมอบโครงการ

         ด้าน นายไตรเตชะ ตั้งมติธรรม กรรมการบริหาร บริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภาคอีสานเป็นอีกหนึ่งทำเลภูมิภาคที่มีศักยภาพ โดยจ.อุดรธานี เป็นหนึ่งจังหวัดเป้าหมายที่บริษัทจะเข้าไปบุกตลาด หลังจากที่ประสบความสำเร็จจากโครงการ "ศุภาลัย พาร์ค วิลล์ ศรีจันทร์" จังหวัดขอนแก่น เนื่องจากอุดร เป็นจังหวัดเศรษฐกิจแห่งภาคอีสานที่มีรายได้ต่อหัวประชากรค่อนข้างสูงและเป็นพื้นที่ที่มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ตามแผนที่วางเอาไว้คาดว่าจะมีการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบในจังหวัดอุดร ช่วงปี 2556

         นางพรทิพย์ ธนศรีวนิชชัย ประธานชมรมอสังหาริมทรัพย์จังหวัดอุดรธานี กล่าวว่าในช่วงนี้มีความเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีมาก และคาดการณ์ว่าช่วงการเปิดเป็นเออีซีจะทำให้เมืองอุดรธานีมีความเปลี่ยนแปลงในด้านความเจริญเติบโตของเมือง และพื้นที่อื่นใกล้เคียง มีชาวต่างชาติเดินทางเข้าอาศัยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความเคลื่อนไหวมากยิ่งขึ้น เพราะว่าคนพื้นที่ก็จะมีการไหลกลับถิ่นเดิมของตนเองมากขึ้นก็จะทำให้เป็นตัวแปรที่สำคัญ

         "เวลานี้มีนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์จากส่วนกลางเข้ามาลงทุนโครงการก่อสร้างบ้านจัดสรร และที่อยู่อาศัยแนวสูงคือ คอนโดมิเนียมหลายโครงการและหลายบริษัท เช่น ซี.พี.แลนด์ ในเครือของ บริษัท ซี.พี.ฯที่เข้ามาขึ้นโครงการคอนโดมิเนียมแล้ว 2 โครงการ รวมถึง บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ฯ เข้ามาซื้อที่ดินเก็บเอาไว้แล้วหลายแปลง และที่กำลังขึ้นโครงการอยู่ในขณะนี้อยู่ริมถนนมิตรภาพสายอุดร-หนองคาย หลัก กม. 6-7 ในพื้นที่ดินกว่า 200 ไร่ และบริษัท ศุภาลัยฯ บริษัท เอ็น.ซี.เฮ้าส์ซิ่งฯ ซึ่งกำลังจัดหาพื้นที่ ที่เหมาะสมและตรงต่อความต้องการอยู่ นอกจากนี้แล้วก็ยังมีบริษัทธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อีกหลายแห่ง ที่เดินทางมาเจาะหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ"

         นางพรทิพย์กล่าวอีกว่า การแข่งขันของธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะมีสภาพที่รุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในแนวตั้ง และแนวราบ โดยเฉพาะการที่มีนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์นอกพื้นที่เข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดในพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ

ที่มา : หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,787 วันที่ 28-31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น