วันอาทิตย์ที่ 18 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

บทความ - คอลัมน์: ก่อสร้างและที่ดิน: สารภาพกับคอนโดฯ


ความฝันของคนทั่วไปเมื่อต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ส่วนใหญ่อยากมีบ้านเดี่ยว มีบริเวณเลี้ยงสัตว์หมาแมว จัดสวนปลูกดอกไม้กันทั้งสิ้น จะทำแบบสอบถามกันกี่ครั้งกี่รอบในระยะเวลาหลาย 10 ปีมา แทบทุกรายตอบเหมือนๆ กันว่า อยากมีที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยว

ทั้งที่ความเป็นจริงในกระเป๋า อาจมีเงินเพียงพอที่จะซื้อทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด หรือคอนโดมิเนียม เท่านั้น

ในระยะ 3-4 ปีมานี้ โครงการคอนโดมิเนียมใหม่คึกคักมาก ได้รับความนิยมมาก เริ่มจากในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ประมาณปี พ.ศ.2551-2552 มีโครงการคอนโดฯ เปิดตัวใหม่จำนวนมาก จนกระทั่งจำนวนยูนิตเสนอขายมากกว่าบ้านเดี่ยว ทาวน์เฮ้าส์  ต่อมาอีก 1-2 ปีเมื่อโครงการคอนโดมิเนียมก่อสร้างเสร็จโอนให้ผู้ซื้อ ก็ทำให้สถิติการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย คอนโดมิเนียมก็ครองอันดับ 1 ของประเภทที่อยู่อาศัยที่มีการโอนมากที่สุด

ปีกว่ามานี้ ในส่วนภูมิภาค ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ขอนแก่น อุดรธานี ก็มีโครงการคอนโดมิเนียม และขายดีเสียด้วย 

แต่ออกแบบสอบถามทีไร ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่ก็ยังตอบว่า ต้องการบ้านเดี่ยว

กระทั่งล่าสุด เร็วๆ นี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ (REIC) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เปิดเผยผลการสำรวจวิจัยผู้บริโภค พบว่า ผู้บริโภคที่ต้องการที่อยู่อาศัยยอมสารภาพ และยอมรับความจริงเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์วงการที่อยู่อาศัย (กทม. ปริมณฑล) ว่าต้องการคอนโดมิเนียมเป็นอันดับหนึ่ง 41.4% แซงบ้านเดี่ยวที่มาเป็นอันดับสอง 35.6% และอันดับ 3 ทาวน์เฮ้าส์ 15.7%

ความจริงระยะหลังๆ ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์พอรับรู้อย่างไม่เป็นทางการกันว่า ผู้บริโภคที่ซื้อห้องชุดในโครงการคอนโดมิเนียมนั้น ประกอบด้วย

กลุ่มแรก เป็นกลุ่มคนเริ่มทำงานถือเป็นที่อยู่อาศัยแห่งแรกของคนกลุ่มนี้

กลุ่มที่สอง เป็นคนวัยทำงานมาแล้วระยะเวลาหนึ่ง มีที่พักอาศัยอยู่แล้วแต่ห่างไกลที่ทำงาน จึงซื้อคอนโดฯ ใกล้ที่ทำงานไว้เป็นที่พักแห่งที่สอง

กลุ่มที่สาม เป็นครอบครัวใหม่ ซึ่งอาจยังไม่มีลูกหรือมีลูก 1 คน

นอกจากนี้ ยังมีข้อสังเกตอีกเรื่องหนึ่ง คือ พบว่า ผู้ซื้อที่อยู่อาศัยมีอายุเฉลี่ยน้อยลง

เดิมนั้น คนจะทำงานประมาณ 10 ปี จึงมีเงินดาวน์และมีกำลังผ่อน ซื้อทาวน์เฮ้าส์หลังเล็กสุดได้ จากนั้นประมาณ 20 ปีหากอาชีพการงานก้าวหน้า ก็จะขยับขยายซื้อบ้านเดี่ยวอีกครั้ง

แต่ขณะนี้วงจรชีวิตกับการซื้อที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไป เรียนจบทำงานก็ซื้อคอนโดมิเนียมเลยเกือบจะทันที เพราะคนรุ่นใหม่ปัจจุบัน คือลูกที่มีพ่อแม่เป็นคนยุค "เบบี้บูม" ซึ่งมีลูกน้อยและส่วนใหญ่มีกำลังซื้อดี สามารถช่วยลูกซื้อที่อยู่อาศัยได้ โดยลูกไม่ต้องใช้เวลาเก็บเงินออม และไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ต้องการความเป็นส่วนตัว หลังจากคุ้นเคยกับการอยู่หอพักช่วงเรียนมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อเรียนจบไม่อยากกลับไปอยู่บ้านกับพ่อแม่

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้อายุเฉลี่ยของคนซื้อที่อยู่อาศัยทุกวันนี้ น้อยลงกว่าเมื่อก่อนนี้ วันเวลาเปลี่ยนไป ผู้คนเปลี่ยนไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไป ทัศนคติในการมีที่อยู่อาศัยก็เปลี่ยนไปด้วย         

หากแนวโน้มธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เปลี่ยนไปตามยุคสมัยของผู้คนเช่นนี้ เชื่อได้ว่า 5-10 ปีต่อจากนี้ไป คนสุขภาพอนามัยดี อายุเฉลี่ยของประชากรสูงขึ้น ตลาดที่อยู่อาศัยก็จะเกิดความต้องการบ้านพักผู้สูงอายุอย่างแน่นอน

คนยุค "เบบี้บูม" วันนี้ที่ควักเงินช่วยลูกซื้อคอนโดฯ ซื้อบ้าน อย่าลืมเจียดเงินไว้ซื้อบ้านพักคนชราให้กับตัวเองด้วยก็แล้วกัน จะได้ซื้อโครงการดีๆ บรรยากาศดีๆ  และอยู่ใกล้สถานีรถไฟความเร็วสูงด้วย (ฮา)

ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 16 - 22 พ.ย. 2555

ที่มาของภาพ : http://phuketlawonline.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น