"โอดแรงงานขาดแสนคนก่อสร้างวอนรัฐอนุญาตใช้ต่างด้าว"
นายจักรพร อุ่นจิตต์ ผู้อำนวยการสถาบันก่อสร้างแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การก่อสร้างของไทยในปี 2555 คาดว่าจะมีมูลค่า 9.3 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากปี 2554 ที่มีมูลค่า 8.09 แสนล้านบาท ถ้าไม่เกิดน้ำท่วมหรือมีวิกฤตทางการเมือง เนื่องจากการก่อสร้างในประเทศอั้นมานานหลายปี และในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาการลงทุนระบบโครงสร้างพื้นฐานของรัฐได้หยุดไปนาน ในปีนี้จึงมีการลงทุนค่อนข้างมาก เช่น รถไฟฟ้า รวมถึงโครงการขนาดใหญ่เรื่องน้ำของรัฐบาลด้วย
สำหรับปัญหาหลักของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยขณะนี้ คือ การขาดแคลนแรงงานอย่างมาก ซึ่งจากการสำรวจของสมาคมอุตสาหกรรมจากสมาชิกที่มีอยู่ประมาณ 400-500 ราย ยังมีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นประมาณ 8 หมื่น-1 แสนคน จากปัจจุบันในช่วงไตรมาส 1/2555 มีแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างรวม 2.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานต่างด้าวประมาณ 6 แสนคน
นายจักรพรกล่าวว่าผู้ประกอบการต้องการให้นำเข้าแรงงานต่างด้าวมาใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างอย่างถูกกฎหมาย เหมือนในประเทศอื่นที่มีกฎหมายรองรับ เช่น ประเทศสิงคโปร์ โดยผู้ประกอบการสามารถเข้า คัดเลือกแรงงานในต่างประเทศที่มีฝีมือเข้ามาฝึกอบรมให้มีความพร้อมที่จะเข้ามาทำงานก่อสร้างในประเทศไทย แล้วนำแรงงานเข้ามาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะช่วยให้ดูแลได้อย่างทั่วถึง และได้แรงงานตามความต้องการของผู้ประกอบการโดยระบบนี้บริษัทขนาดใหญ่ที่ออกไปรับงานในต่างประเทศเริ่มดำเนินการกันบ้างแล้ว โดยไปจัดตั้งศูนย์อบรมแรงงานก่อสร้างในต่างประเทศเพื่อจัดส่งเข้ามาในไทย
"โครงการด้านการจัดหาแรงงานในลักษณะดังกล่าวภาคเอกชนจะนำเสนอต่อภาครัฐและกระทรวงแรงงาน เพราะเริ่มต้นคงต้องเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลของประเทศเป้าหมายด้วย หากลองพิจารณาโครงการพัฒนาประเทศส่วนใหญ่ของรัฐบาล งานหลักๆ ก็คืองานก่อสร้าง ดังนั้น เราคงต้องใช้แรงงานต่างด้าวเข้ามาช่วยพัฒนาประเทศ" นายจักรพรกล่าว
ขณะเดียวกัน ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) เพราะจะเป็นโอกาสให้ผู้รับเหมาของประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีต้นทุนถูกกว่าไทยเข้ามารับงานแข่งกับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยมากขึ้น รวมทั้งปัญหาวิกฤตยุโรปอาจส่งผลให้ผู้รับเหมารายใหญ่ของยุโรปเข้ามารับงานในเอเชียมากขึ้น ซึ่งกลุ่มประเทศเอเชียการก่อสร้างยังคงขยายตัวอย่างมาก ได้แก่ จีน อินเดีย เป็นต้น
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น