"แลนด์แอนด์เฮ้าส์" อสังหาฯ เพื่อการลงทุน
อนันต์ อัศวโภคิน |
เมื่อเขียนถึงอสังหาริมทรัพย์ต้องไม่พลาดที่จะเขียนถึงยักษ์ใหญ่ในวงการอย่าง"แลนด์"หรือ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) ที่มี อนันต์ อัศวโภคิน นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รุ่นแรกๆของเมืองไทย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 4 ทศวรรษ จากวิกฤติการเงินในปี 2527 มาถึงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 ด้วยกลยุทธ์ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส รวมไปถึงการบริหารการเงินที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ "แลนด์" เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่มีการขยายการลงทุนไปในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องครบวงจร ทั้งค้าปลีก ธนาคารพาณิชย์ วัสดุก่อสร้างและโรงพยาบาล ที่สร้างรายได้มากกว่าครึ่งให้กับบริษัท ทำให้"แลนด์"มีโครงสร้างธุรกิจต่างจากบริษัทอสังหาริมทรัพย์คือ มีรายได้จาก อสังหาริมทรัพย์ และ ลงทุนในธรกิจอื่นในสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน
แลนด์ ก่อตั้งในปี 2516 โดยคุณเพียงใจ หาญพาณิชย์ คุณแม่ของคุณอนันต์ อัศวโภคิน โดยพัฒนาโครงการบ้านจัดสรรโครงการแรกคือ หมู่บ้านศรีรับสุข ย่านบางเขน ก่อนที่คุณอนันต์จะเข้ามารับช่วงต่อและบริหารงานอย่างเต็มตัวในราวปี 2520 และจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด อย่างเป็นทางการในปี 2526 โดยเน้นการพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายมาอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะเผชิญกับวิกฤติการเงินในปี 2527 บริษัทก็ยังคงยืนหยัดในการพัฒนาโครงการและส่งมอบบ้านให้กับลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับการยอมรับจากสาธารณชน ถ้าขึ้นชื่อว่า "แลนด์แอนด์เฮ้าส์" แล้วผู้ซื้อมั่นใจในคุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ขายความมั่นใจให้กับผู้ซื้อ เพราะสินค้าบ้านเป็นสินค้าชนิดเดียวที่ผู้ซื้อซื้อโดยที่ยังไม่เห็นสินค้าเห็นแต่กระดาษและที่ดิน
ทั้งนี้ "แลนด์" เป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายแรกของเมืองไทยที่ขยายการลงทุนไปในต่างประเทศในช่วงปี ปีที่เศรษฐกิจไทยมีอัตราการเจริญเติบโตไม่น้อยกว่า 8% ต่อปี ด้วยการเข้าไปลงทุนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยเพื่อขายในสองประเทศ ในขณะที่ยอดขายภายในประเทศของ "แลนด์" ในห้วงเวลาดังกล่าวทะลุ 20,000 ล้านบาท ถือว่ามีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในขณะนั้น เพราะนอกจาก"แลนด์" ที่เป็นบริษัทแม่แล้ว ในห้วงเวลาดังกล่าว แลนด์ ยังเข้าไปลงทุนในบริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด(มหาชน) บริษัท เอเชี่ยน พร็อพเพอร์ตี้ ดิเวลล๊อปเม้นท์ จำกัด(มหาชน) เป็นต้น แต่ธุรกิจที่เข้าไปลงทุนในขณะนั้นยังคงเน้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นหลัก
+จุดเปลี่ยน
การขยายตัวอย่างรวดเร็วในช่วงเวลานั้น "แลนด์" ก็ไม่ต่างจากผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นๆ ในขณะนั้นที่อาศัยเงินกู้จากต่างประเทศ หลังจากที่ ธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดประตูเสรีทางการเงิน ทำให้บริษัทหลายแห่งสามารถออกหุ้นกู้เพื่อขายในต่างประเทศแทนการกู้เงินจากสถาบันการเงินภายในประเทศ ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศทำให้เกิดภาวะเก็งกำไรในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และในธุรกิจการเงินจนกลายเป็นต้นตอของวิกฤติการเงินในปี 2540 ซึ่ง "แลนด์" ในฐานะยักษ์ใหญ่ของวงการที่มีหุ้นกู้ต่างประเทศ ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่ด้วยความเชี่ยวชาญทางการเงิน และการตัดสินใจอย่างรวดเร็วด้วยการดึงเอากลุ่มทุนต่างประเทศอย่าง Government of Singapore Investment Corporation (GIC) จากประเทศสิงคโปร์ เข้ามาเป็นผู้ร่วมทุน พร้อมกับเปิดแคมเปญ "ไม่เห็นอย่าซื้อ" ที่เป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จากการขายกระดาษมาเป็นการขายบ้านที่สร้างเสร็จแล้ว ให้กับลูกค้า หรือ สร้างเสร็จก่อนขาย เนื่องจากในปี 2540 มีโครงการหลายแห่งที่ไม่สามารถก่อสร้างและส่งมอบให้กับลูกค้าได้ตามสัญญา เพราะผู้ประกอบการเผชิญกับวิกฤติการเงิน
ถึงแม้"แลนด์" ในขณะนั้นจะเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจเช่นกันแต่การปรับตัวได้เร็ว ทำให้บริษัทช่วงชิงความได้เปรียบ เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส นำเอาระบบการก่อสร้างบ้านแบบสายพานโรงงานมาใช้ทั้งประโยชน์ในการลดต้นทุนการก่อสร้างและสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าไปพร้อมๆ กัน
+หลังวิกฤติ2540
หลังวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 คุณอนันต์ ปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจของกลุ่มที่เน้นการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายมาสู่การเป็นบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการลงทุน เพื่อสร้างสามขาหยั่งทางธุรกิจให้กับกลุ่ม เพราะบทเรียนในช่วงที่ผ่านมาทำให้เขาเรียนรู้ว่าการพึ่งพาอยู่ในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งโดยเฉพาะทำให้เมื่อเกิดวิกฤติก็จะล้มทั้งหมด แต่ถ้ามีธุรกิจที่สร้างสมดุลให้กับกลุ่มได้ ก็จะสร้างเสถียรภาพและความมั่นคงให้กับกลุ่ม เป็นจุดเริ่มต้นของการขยายเครือข่ายและการลงทุนในธุรกิจเกี่ยวเนื่องในห้วงเวลาถัดมาทั้งธุรกิจการ เงิน ค้าปลีก วัสดุก่อสร้างและโรงพยาบาล ในแบบที่คุณอนันต์ เคยกล่าวไว้ว่า ถ้าบอกว่าทำอสังหาริมทรัพย์ เราก็ไม่ควรจำกัดตัวเองอยู่แค่พัฒนาบ้านเพื่อขายแต่เราควรมองอสังหาริมทรัพย์อื่นๆ ที่มีการแข่งขันไม่สูง แต่สร้างอัตราผลตอบแทนได้ไม่แพ้กัน ซึ่งเป็นกลยุทธ์การขยายธุรกิจของบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ เมื่อก้าวเข้าสู่ทศวรรษห้า ที่เราจะเขียนถึงต่อไปในตอนหน้า
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,776 20-22 กันยายน พ.ศ. 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น