"เล็งผุดทางด่วนเชื่อมสปป.ลาว"
สะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว |
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยดอดลงพื้นที่อุดร-หนองคาย เก็บข้อมูลสร้างทางพิเศษเชื่อมสปป.ลาว เล็งผุดสะพานข้ามโขงที่หนองคายเพิ่มรองรับเออีซี ด้านหอการค้าอุดร-หนองคายเชียร์สุดลิ่มจี้กทพ.เร่งสรุปก่อนนำเสนอผ่านกรอ.ในพื้นที่และส่วนกลาง ชี้ปัจจุบันสะพานแห่งแรกเริ่มแออัดแถมสร้างมานาน 18 ปี แนะสร้างคู่ขนานสะพานเดิมเสนอของบลงทุน 1,200 ล้านบาท
นายธนัชชัย สามเสน รองประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดอุดรธานี เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าเมื่อเร็วๆ นี้คณะวิศวกรและนักวิชาการจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) ได้เดินทางมาพบตนและคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดอุดรธานีที่สำนักงานหอการจังหวัดอุดรธานี เพื่อปรึกษาหารือและรวบรวมความคิดเห็นต่อแนวความคิดโครงการก่อสร้างทางด่วนพิเศษเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว)และการพัฒนาระบบขนส่งโลจิสติกส์ เพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะเริ่มในปี 2558
จากการที่ทั้งฝ่าย กทพ.และหอการค้าจังหวัดอุดรธานี ได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อมูลด้านต่างๆ กันแล้วทางหอการค้าจังหวัดอุดรธานีในฐานะของภาคเอกชนก็มีความเห็นสนับสนุนแนวความคิดของกทพ. โดยเฉพาะประเด็นการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายเป็นแห่งที่ 2 ด้วยเหตุผลที่ว่าสะพานมิตรภาพไทย-ลาวที่หนองคายแห่งแรกนั้นก่อสร้างและรองรับการใช้มานานกว่า 18 ปีแล้ว ถือว่าเป็นสะพานที่มีประวัติศาสตร์เป็นสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งแรกระหว่างประเทศไทยและประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว(สปป.ลาว) ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในด้านการเดินทาง-การขนส่งที่เคยต้องใช้เรือและเรือบั๊กในการขนส่ง รวมทั้งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าการลงทุนระหว่างสองประเทศเป็นอันมาก
"ตามความคาดหมายของนักวิชาการด้านเศรษฐกิจในพื้นที่ หลังจากนี้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนแล้วปริมาณการเดินทางผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่จังหวัดหนองคายจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น ทำให้สภาพการจราจรติดขัดด้วยเหตุสะพานมีขนาดคับแคบและต้องใช้งานร่วมกับรถไฟทำให้การเดินทางล่าช้าลงไปจึงเกิดความไม่สะดวก"
นายธนัชชัย กล่าวต่อไปอีกว่าจากเหตุผลหลายประการและสภาพของภาวะเศรษฐกิจที่จะก้าวเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในอีก 2-3 ปีข้างหน้า หอการค้าจังหวัดอุดรธานีจึงเห็นด้วยกับแนวความคิดของ กทพ. ที่จะก่อสร้างสะพานอีกแห่งหนึ่งในพื้นที่จังหวัดหนองคาย พร้อมกันนี้ก็มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับสะพานมิตรภาพไทย-ลาวเดิมนั้น คณะกรรมการกำกับดูแลสะพานไทย-ลาวน่าที่จะมีการปรับปรุงให้เกิดความสะดวก สามารถรองรับปริมาณการเดินทางหรือการขนส่งได้ดีกว่านี้ เพราะจะเป็นการส่งเสริมการเดินทางท่องเที่ยว การขนส่งที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น การค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอินโดจีน รวมไปถึงประเทศจีนได้อีกด้วย
นายประเสริฐ วิทยาภัทร ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดหนองคาย เปิดเผยว่าเห็นชอบต่อโครงการดังกล่าวของ กทพ. เนื่องจากว่าสะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ทางรัฐบาลออสเตรเลียลงทุนก่อสร้างให้กับรัฐบาลไทยและรัฐบาลสปป.ลาวแห่งที่ 1 ในพื้นที่จังหวัดหนองคายนั้นมีการใช้งานมาเป็นเวลานานแล้ว ซึ่งออกแบบเป็นสะพาน 2 ช่องทางจราจร และให้รถไฟวิ่งช่องกลางสะพาน ซึ่งเมื่อรถไฟวิ่งข้ามไป-มารถยนต์จะต้องหยุดรอเป็นเวลานาน เกิดความคับคั่ง ประกอบกับปัจจุบันนี้มีอัตราการเดินทางข้ามไป-มาของรถยนต์เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้นแนวทางที่น่าจะเป็นไปได้คือการก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับตัวสะพานเดิม เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางจราจรมากขึ้น ซึ่งก็จะเป็นการสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของจังหวัดหนองคายที่ทำเอาไว้แล้ว และได้เคยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)สัญจรเมื่อครั้งที่ประชุมกัน ณ จังหวัดอุดรธานี เมื่อเดือนกรกฎาคม 2554 โดยทางจังหวัดหนองคายได้ขอเสนองบประมาณในการก่อสร้างสะพานคู่ขนานกับสะพานเดิมจำนวน 1,200 ล้านบาท
ทั้งนี้จากแนวความคิดของ กทพ. ทางหอการค้าจังหวัดหนองคาย ก็เสนอให้ กทพ.ไปจัดทำรายละเอียดทั้ง 2 โครงการ แล้วขอให้ทางหอการค้าทั้ง 2 จังหวัดดูรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทางหอการค้าจังหวัดหนองคายพร้อมที่จะเสนอโครงการของ กทพ.เข้าสู่ กรอ.จังหวัดหนองคาย และ กรอ.ส่วนกลางผ่านทางหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก......จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,767 19-22 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น