"เร่งทางคู่-ไฮสปีดเทรน 4 เส้นสายชงนายกฯ"
คมนาคมเร่งสรุปผลศึกษา-ออกแบบรายละเอียดรถไฟทางคู่-ไฮสปีดเทรนให้แล้วเสร็จปีนี้ก่อนชง "ยิ่งลักษณ์" กดปุ่มโหมโรงบิ๊กโปรเจ็กต์ปี 56 เชื่อมีผลต่อการพัฒนาเมืองและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน สนข.รับลูกหวังเชื่อมโยงและยกระดับเศรษฐกิจประตูการค้าชายแดน ส่วนร.ฟ.ท.ลุ้นเปรียบเทียบผลศึกษาของจีน-ญี่ปุ่นก่อนเซ็นว่าจ้างที่ปรึกษาเดินหน้าสิ้นปีนี้ต้องแล้วเสร็จ
นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ" ว่าขณะนี้ได้เร่งรัดโครงการรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงหรือไฮสปีดเทรนที่อยู่ระหว่างการศึกษาและออกแบบรายละเอียดให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ก่อนที่จะนำเสนอนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดตัวอย่างเป็นทางการโดยถือเป็นโครงการระดับ "บิ๊กโปรเจ็กต์" ของรัฐบาลและกระทรวงคมนาคมในปี 2556 เพื่อให้เห็นภาพความชัดเจนของการพัฒนาโครงการอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังต้องการให้มีการเปิดประมูลและก่อสร้างได้ภายในปลายปีหน้าเพื่อให้โครงการเป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้อย่างน้อย 1 เส้นทาง
"รถไฟทางคู่เร่งออกแบบรายละเอียดให้พร้อมเตรียมเปิดประมูล ส่วนไฮสปีดเทรนช่วงที่ผ่านมาอยู่ระหว่างการหารือกับผู้เกี่ยวข้องทั้งในและต่างประเทศเช่น จีน ญี่ปุ่นตลอดจนการจัดเตรียมข้อมูลของหน่วยงานต่างๆ ตามที่กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลแต่งตั้งขึ้นอีกทั้งขณะนี้จนถึงสิ้นปีนี้ไฮสปีดเทรนยังอยู่ในช่วงการศึกษา-ออกแบบรายละเอียดทั้ง 4 เส้นทาง จึงเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อให้นายกรัฐมนตรีจัดพิธีเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีหน้า ต่อจากนั้นกระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้เร่งผลักดันให้สามารถเปิดประมูล และก่อสร้างในเส้นทางต่างๆ ให้สำเร็จตามแผนและนโยบายที่รัฐบาลสัญญาไว้กับประชาชนต่อไป"
ดร.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ามั่นใจรถไฟทางคู่และไฮสปีดเทรนจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยและภูมิภาคนี้ พร้อมกับการเติบโตของการพัฒนาเมืองโดยเฉพาะตามสถานีหลักต่างๆ ในแต่ละเส้นทางขณะนี้ไฮสปีดเทรนยังรอสรุปรายละเอียดด้านเทคนิคที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย โดยจะเน้นไปที่การเดินทาง ส่วนการขนส่งสินค้าจะเป็นรายการขนาดไม่ใหญ่หรือหนักจนเกินไป เช่น การให้บริการของระบบ Express Line ของแอร์พอร์ตลิงค์ให้บริการในปัจจุบัน
ด้าน ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)กล่าวว่า ถึงแม้บริษัทที่ปรึกษาจะเร่งดำเนินงานไปแล้วก็ตามแต่สนข.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังต้องติดตามผลอย่างต่อเนื่องตามนโยบายการเข้มงวดที่ปรึกษาของกระทรวงคมนาคมเพื่อให้โครงการนี้ประสบผลสำเร็จและได้ข้อมูลที่ชัดเจนแม่นยำมากที่สุด
นายวิโรจน์ เตรียมพงศ์พันธ์ รองผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยและรักษาการผู้ว่าการร.ฟ.ท.กล่าวว่าขณะนี้ร.ฟ.ท.เซ็นสัญญาว่าจ้างกับบริษัทที่ปรึกษาครบทั้ง 4 เส้นทางเรียบร้อยแล้วโดยต้องการให้การศึกษาแล้วเสร็จในสิ้นปีนี้ นอกจากนั้นยังรอเปรียบเทียบผลการศึกษาที่ญี่ปุ่นที่ศึกษาเสร็จเรียบร้อยแล้วเปรียบเทียบกับผลการศึกษาของจีนโดยเฉพาะด้านเทคนิคว่าจะนำระบบใดมาใช้ให้เหมาะสมในประเทศไทย
นายฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ กล่าวในการสัมมนาโครงการวิจัยการใช้ประโยชน์จากระบบรถไฟที่เชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของภูมิภาค ว่า ไทยมีศักยภาพที่เหมาะสมในด้านความเป็นศูนย์กลางที่สำคัญทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเนื่องจากลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่สามารถเชื่อมโยงกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้อีกทั้งยังเป็นทางออกสู่ทะเลให้กับประเทศลาวและมณฑลจีนตอนใต้ โดยอาศัยไทยเป็นช่องทางผ่านไปท่าเรือแหลมฉบังได้ง่ายขึ้น ส่วนเส้นทางภาคใต้ยังเชื่อมโยงผ่านมาเลเซียมุ่งสู่ท่าเรือหลักที่ประเทศสิงคโปร์
ทั้งนี้โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่เร่งสรุปผลการศึกษาออกแบบรายละเอียดและเปิดประมูล-ก่อสร้างในปี 2556 ประกอบด้วยสายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย งบประมาณ 1.1 หมื่นล้านบาท สายลพบุรี-ปากน้ำโพ งบ 1.9 หมื่นล้านบาท สายมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ งบ 2.8 หมื่นล้านบาท สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น งบ 2.8 หมื่นล้านบาท สายนครปฐม-หนองปลาดุก-หัวหิน งบ 2.7 หมื่นล้านบาท และสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร งบ 1.6 หมื่นล้านบาท
ส่วนรถไฟความเร็วสูงคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจได้อนุมัติให้มีการเร่งศึกษาออกแบบรายละเอียด 4 สายหลักคือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 745 กิโลเมตร งบประมาณ 229,000 ล้านบาท(โดยจะก่อสร้างช่วงแรกกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 382 กิโลเมตร และช่วงพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 363 กิโลเมตร) , กรุงเทพฯ-หนองคาย 615 กิโลเมตร งบประมาณ 2.01 แสนล้านบาท(ก่อสร้างช่วงเฟสแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กิโลเมตร),กรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทาง 221 กิโลเมตร งบประมาณ 7.2 หมื่นล้านบาท(เฟสแรกดำเนินการถึงพัทยา) และเส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กิโลเมตร งบประมาณ 2.97 แสนล้านบาท (เฟสแรกช่วงกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 225 กิโลเมตร)
ที่มา.......จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,765 12-15 สิงหาคม พ.ศ. 2555
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น