วันอาทิตย์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2555

ข่าว - ฉายภาพอสังหาฯ เพื่อนบ้าน

"แอเรียรายงานสถานการณ์ล่าสุดทางเศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ประเทศเพื่อนบ้าน ล้วนเติบโตอย่างมีศัยกภาพ"



นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (แอเรีย) เปิดเผยว่า ในที่นี้เป็นการทบทวนถึงสถานการณ์เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในประเทศอาเซียน 6 ประเทศได้แก่ กัมพูชา บรูไน เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ซึ่งนำเสนอโดยผู้รู้ในแต่ละประเทศโดยตรง โดยมีรายละเอียด ดังนี้

กัมพูชา
เศรษฐกิจดีโดยว่าจะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2555 สูงถึง 7% ในขณะที่ในปี 2554 เติบโต 6%  ในด้านอสังหาริมทรัพย์ พื้นที่สำนักงานมีค่าเช่าเดือนละ 600 บาทต่อตารางเมตร ซึ่งน้อยกว่าไทยไม่มากนัก 
สำหรับตลาดที่อยู่อาศัย ในขณะนี้เน้นสร้างตึกแถว แต่ก็เริ่มมีทาวน์เฮาส์ ส่วนอาคารชุดราคาแพงกลับชะลอตัว  แต่นิคมอุตสาหกรรมยังมีการขยายตัวตามการลงทุนจากต่างประเทศ  อสังหาริมทรัพย์ประเภทหนึ่งที่น่าสนใจในกัมพูชาก็คือ การให้ต่างชาติเช่าพื้นที่ทำนา หรือร่วมทุนกับชาติตะวันออกกลางทำนา (คล้ายที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร เคยมีดำริในเรื่องนี้) ปรากฏว่ามีการเข้ามาร่วมลงทุนมาก  กัมพูชามีสัดส่วนในการส่งออกข้าวได้มากกว่าเดิม
บรูไน
ประเทศนี้มีขนาดเล็ก มีพื้นที่เพียง 1,000 ตารางกิโลเมตรและมีประชากรเพียง 400,000 คน รายได้หลักมาจากแก๊สและน้ำมันโดยประมาณการเป็น 50% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ และ 90% ของการส่งออกของบรูไน  การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของบรูไนอยู่ที่ 2% ซึ่งค่อนข้างจำกัด แต่ก็เริ่มดีขึ้นกว่าเมื่อ 2 ปีก่อน 
อย่างไรก็ตามรายได้ประชาชาติต่อหัวของบรูไนสูงกว่าไทยถึงประมาณ 5 เท่าตัว  แต่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์กลับยังไม่มีอะไรโดดเด่นเป็นพิเศษ ยกเว้นการสร้างศูนย์การค้า โรงแรม ส่วนหนึ่ง  ส่วนในภาคที่อยู่อาศัยส่วนมากเป็นบ้านสร้างเองมากว่า
มาเลเซีย
เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะที่ดี มีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 5.1% ในปีพ.ศ.2554  แม้เศรษฐกิจโลกยังน่าเป็นห่วง แต่การจับจ่ายใช้สอยของประชากรภายในประเทศยังสูงอยู่  สำหรับมูลค่าการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาทในปี 2554 นั้นแยกเป็นที่อยู่อาศัย 620,000 ล้านบาท อสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ 280,000 ล้านบาท อุตสาหกรรม 115,000 ล้านบาท และเกษตรกรรม 190,000 ล้านบาท นอกนั้นเป็นอื่น ๆ  อสังหาริมทรัพย์ในมาเลเซียยังเติบโด โดยพิจารณาได้จากการที่มีที่อยู่อาศัยสร้างแล้วเสร็จ 4.51 ล้านหน่วย และในอนาคต จะมีแผนการสร้างเพิ่มอีก 584,546 หน่วย
เวียดนาม
สถานการณ์เศรษฐกิจที่ดิ่งเหวมาแต่ปี พ.ศ.2551 เริ่มดีขึ้น คาดว่าปี พ.ศ.2555 จะมีอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 4%  สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากก็ลดลงจาก 14% ในปีก่อน เหลือ 9% ในปีนี้  อย่างไรก็ตามการลงทุนจากต่างประเทศในปี พ.ศ.2554 มีสัดส่วนลดลง 21% จากปี พ.ศ.2553  ในด้านอสังหาริมทรัพย์พบว่า อาคารสำนักงานชั้นดีในกรุงฮานอย ณ ไตรมาส 1/2555 มี 290,000 ตารางเมตร ค่าเช่าประมาณ 1,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน แต่มีอัตราว่างถึง 35%  ในขณะที่ในนครโฮชิมินห์มี 137,000 ตารางเมตร แต่ค่าเช่าดีกว่าคือเดือนละ 1,500 บาท และมีอัตราว่างน้อยกว่าคือเพียง 16%  ถ้าเทียบกับไทยสถานการณ์ถือว่าแย่กว่า แต่ก็อยู่ในภาวะฟื้นตัวขึ้นกว่าแต่ก่อน
สิงคโปร์
ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาสิงคโปร์เติบโตอย่างรวดเร็ว  ห้องชุดในสิงคโปร์มีราคาปานกลางสูงถึง 300,000 บาท โดยในใจกลางเมืองมีอัตราผลตอบแทนอยู่ที่ 2.8% ส่วนในเขตชานเมืองมีอัตราผลตอบแทน 4.8%  โดยที่สิงคโปร์เป็นแหล่งจับจ่ายสินค้าของภูมิภาคอาเซียน จึงทำให้พื้นที่ขายศูนย์การค้าค่อนข้างแพง โดยในเขตใจกลางเมือง มีอัตราสูงถึง 700,000 – 1,000,000 บาทต่อตารางเมตร  ขณะนี้คาดว่าสิงคโปร์จะเข้าสู่ภาวะถดถอยลงในระดับหนึ่งเพราะพิษเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐอเมริกา จึงคาดว่าภาคอสังหาริมทรัพย์จะได้รับผลกระทบไปด้วย
อินโดนีเซีย
เศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็วถึงปีละ 6.5% ในปี พ.ศ.2554  ส่วนในปีนี้คาดว่าจะเติบโตถึง 7%  ในปี พ.ศ.2554 อาคารสำนักงานมีอัตราค่าเช่าเฉลี่ยประมาณ 544 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน เพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 3.51% และมีอัตราว่างเพียง 11%  ส่วนโรงแรมชั้นหนึ่งมีค่าเช่าค่อนข้างสูงเพราะมีจำนวนจำกัดคือคืนละประมาณ 2,837 บาท  สำหรับห้องชุดใจกลางกรุงจาการ์ตามีราคา 56,000 บาทต่อตารางเมตร  และพื้นที่ค้าปลีกมีค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,755 บาทต่อตารางเมตร  อินโดนีเซียมีความมั่นคงทางการเมืองสูง ประเทศมีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรมาก โอกาสการเติบโตในอนาคตยังมีอย่างต่อเนื่อง
จะเห็นได้ว่าแม้ภาวะเศรษฐกิจโลกจะตกต่ำ แต่ก็ส่งผลกระทบไม่มาก หากประเทศใดมีพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง มีทรัพยากรและประชากรเป็นจำนวนมาก  ในอนาคตเมื่อมีเกิดชุมชนเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) แล้ว  เศรษฐกิจและอสังหาริมทรัพย์ในแต่ละประเทศอาจมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นอีก  ประเทศไทยต้องสามัคคีกันพัฒนาประเทศและเศรษฐกิจให้เข้มแข็งเพื่อการรับมือกับ AEC ในอนาคตอันใกล้นี้
ที่มา....... www.posttoday.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น