วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ข่าว - สผ.ปลดล็อก"อีไอเอ"คอนโด-ตึกสูง 3สมาคมอสังหาเฮคลอดคู่มือปฏิบัติ


เลขาฯ สผ.คนใหม่เครื่องร้อน ปิ๊งไอเดียแก้ปัญหาพิจารณารายงานอีไอเอบ้าน-คอนโดฯล่าช้า เตรียมทำ "คู่มือหลักปฏิบัติ" เป็นแนวทางชัดเจนให้ผู้ประกอบการอสังหาฯนำไปใช้ ชี้หากทำได้ยกเลิกไม่ต้องทำรายงานอีไอเออีกต่อไป แต่ยังติด พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมไม่เปิดช่อง ต้องรอหารือ กทม.-กรมโยธาฯ ใช้ช่องกฎหมายอื่นออกระเบียบมารองรับ ขณะที่ 3 สมาคมอสังหาฯประสานเสียงแก้ได้ถูกจุด

นายสันติ บุญประคับ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ได้วางแนวทางให้การพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ประเภทโครงการคอนโดมิเนียมและบ้านจัดสรร ทำได้รวดเร็วขึ้น มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และลดปัญหาการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) ในการพิจารณารายงาน ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เรียกร้องโดยอยู่ระหว่างเตรียมเสนอที่ประชุม คชก.ให้จัดทำ "Code of Practice" (คู่มือหลักปฏิบัติ) สำหรับใช้เป็นหลักปฏิบัติที่ชัดเจนในการพิจารณาอีไอเอ ขณะเดียวกันก็ใช้เป็นคู่มือให้ผู้ประกอบการใช้เป็นแนวทางในการจัดทำมาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้วย นอกจากนี้ สผ.จะหารือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมโยธาธิการและผังเมืองว่า จะมีข้อกฎหมายใน พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2543 หรือกฎหมายฉบับอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เปิดช่องให้ออกระเบียบ อาทิ ระเบียบกรุงเทพมหานคร ระเบียบกระทรวงมหาดไทย หรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี อย่างใดอย่างหนึ่ง เพื่อรองรับ Code of Practice และให้อำนาจ กทม.และกรมโยธาฯ สามารถนำ Code of Practice มาบังคับใช้ในทางปฏิบัติได้

เนื่องจากปัจจุบันข้อกฎหมาย พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ระบุว่าให้นำ "รายงานอีไอเอ" มาบังคับใช้กับเรื่องสิ่งแวดล้อมได้เท่านั้น หากสามารถทำได้ในอนาคต สผ.ก็จะยกเลิกการทำรายงานอีไอเอสำหรับคอนโดฯ-บ้านจัดสรร โดยจะใช้ Code of Practice แทน ส่วนกรณีที่ผู้ประกอบการไม่ปฏิบัติตามคู่มือ ก็จะมีความผิด และมีโทษตามกฎหมาย

สำหรับคู่มือ จะรวบรวมประเด็นต่าง ๆ ที่ คชก.เคยใช้พิจารณารายงานอีไอเอคอนโดฯ จัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติแยกย่อยเป็นหมวดหรือหัวข้อ อาทิ พื้นที่สีเขียวในโครงการ, การบำบัดน้ำเสีย, การลดผลกระทบอาคารบดบังแดด ลม วิว, การลดผลกระทบปัญหาจราจร ว่าที่ผ่านมา คชก.กำหนดให้ผู้ประกอบการจัดทำมาตรการแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้าง เพื่อเป็นมาตรฐานให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ต่อไป

"สิ่งที่ผมกำลังทำก็คือการนำเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปผนวกกับพ.ร.บ.ควบคุมอาคารหรืออาจเป็นกฎหมายฉบับอื่นที่เปิดช่อง เราเป็นหน่วยงานกลางระหว่างประชาชนกับผู้ประกอบการ เพราะประชาชนก็ต้องให้ สผ.ช่วยปกป้องสิทธิ์เรื่องสิ่งแวดล้อม ขณะที่ผู้ประกอบการก็ต้องดำเนินธุรกิจของเขา ส่วนที่ผู้ประกอบการมองว่า สผ.ใช้เวลาพิจารณารายงานนาน กฎหมายกำหนดไว้ไม่เกิน 105 วัน แต่ผู้ประกอบการนับรวมเวลาที่ต้องกลับไปแก้ไขด้วย"

เลขาธิการ สผ.กล่าวต่อว่า ขณะเดียวกัน สผ.ได้วางแนวทางให้การพิจารณารายงานอีไอเอรวดเร็วขึ้น สถิติช่วง 10 เดือนแรกปีนี้ เฉพาะคอนโดฯ-บ้านจัดสรรมีจำนวนประมาณ 300 โครงการ ขณะที่ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 200 โครงการปัจจุบันจึงอยู่ระหว่างการแก้ไข พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม เพื่อกระจายอำนาจให้ทางจังหวัดเป็นผู้พิจารณารายงานอีไอเอแทนได้ จากปัจจุบันมีเฉพาะจังหวัดหรือเมืองที่ถูกจัดเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม อาทิ ภูเก็ต พัทยา ฯลฯ จึงมีอำนาจพิจารณาได้เอง

ทั้งนี้ ประเด็นที่มีผู้ประกอบการพูดกันมากคือกรณีที่ คชก.ให้ความเห็นเรื่องอื่น ๆ เพิ่มเติมในภายหลัง เช่น รายงาน เข้าที่ประชุม คชก.ครั้งแรกให้ไปแก้ไขทั้งหมด 3 เรื่อง แต่เมื่อเรื่องกลับเข้าที่ประชุมครั้งที่ 2 กลับมีอีก 2 เรื่องใหม่เพิ่มขึ้นมา เป็นต้น จนมีเสียงติติงจากผู้ประกอบการว่าทำไมอีไอเอจึงเข้มกว่ากฎหมาย กรณีนี้ยอมรับว่าเคยเกิดขึ้น การแก้ไขคือ สผ.จะขอความร่วมมือ คชก.ให้งดแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในภายหลัง กรณีที่ คชก.คนใดขาดประชุมครั้งแรกก็ให้แสดงความคิดเห็นมาเป็นลายลักษณ์อักษรแทน

ส่วนประเด็นเรื่องการพิจารณาผลกระทบต่อการบดบังวิวลม แดด สิ่งปลูกสร้างข้างเคียง คชก.สามารถทำได้ เพราะเป็นการพิจารณาภายใต้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ "คุณค่าการอยู่อาศัย" การพิจารณาที่ผ่านมามีทั้งการปรับแบบอาคารเพื่อลดผลกระทบ และให้บริษัทจัดตั้งกองทุนไว้เพื่อชดเชยผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนข้างเคียง อย่างไรก็ตาม หากจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดมองว่าผังเมืองรวมจะต้องกำหนดโซนนิ่งว่าพื้นที่โซนไหนสามารถก่อสร้างตึกสูงได้ 

นายธำรง ปัญญาสกุลวงศ์ นายกสมาคมอาคารชุดไทย เปิดเผยว่า การที่ สผ.มีแนวทางจะทำคู่มือหลักปฏิบัติออกมาถือเป็นเรื่องดี จะเป็นการแก้ไขปัญหาการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการ ในการพิจารณารายงานอีไอเอได้ตรงจุด เพราะการมีคู่มือ เท่ากับเป็นการกำหนดเช็กลิสต์เป็นมาตรฐานว่ามีสิ่งใดที่ต้องทำหรือห้ามทำ เพราะที่ผ่านมาโครงการที่เข้าสู่การพิจารณาจะมีลักษณะคล้าย กัน แต่ก็ต้องให้คณะกรรมการพิจารณารายงานอีไอเอทั้งหมด

นายสุนทร สถาพร อุปนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร เปิดเผยว่า แนวทางของ สผ.ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะที่ผ่านมาการพิจารณารายงานอีไอเอค่อนข้างช้า หากรวมกับเวลาที่ต้องกลับมาแก้ไขรายงาน บางโครงการถึงกว่า 1 ปี 

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า การมีคู่มือหลักปฏิบัติถือเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการอยากให้เกิดขึ้น หลักเกณฑ์ภายในคู่มือก็จะต้องไม่เข้มงวด หรือมีรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไปจนทำให้ปฏิบัติได้ยาก ต้องชัดเจนว่ามีกี่หมวด กี่หัวข้อ มาตรฐานคืออะไร และมีข้อสังเกตว่าผลกระทบสิ่งแวดล้อมบางอย่าง อาทิ เรื่องการบังแดด บังวิว บังลม มีเรื่องสภาพแวดล้อมของที่ดินแต่ละแปลงมาเกี่ยวข้อง จึงต้องดูว่าคู่มือจะออกมาเป็นอย่างไร

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ 13 พ.ย. 2555 เวลา 09:30:11 น. 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น